กระบวนการสร้างความทุกข์
- Inspiresoul Thailand
- Jul 11, 2022
- 1 min read
Updated: Jul 13, 2022

Photo by Žygimantas Dukauskas on Unsplash
ใครๆ ก็คงไม่อยากมีความทุกข์ แต่ทุกๆ สรรพสิ่งที่มีชีวิตในโลกนี้ล้วนมีความทุกข์ คุณเคยคิดหรือไม่ว่าความทุกข์ (suffering) นั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร ? ความทุกข์นั้นสามารถเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้เท่านั้น หรือสามารถเกิดขึ้นกับสัตว์ได้เช่นกัน แล้วจะทำอย่างไรที่จะทำให้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นบรรเทาและหายไปในที่สุด
ในโลกวัตถุนิยมที่มีความเจริญของเทคโนโลยีและความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตด้วยการกดปุ่มเพียงแค่ปุ่มเดียวเราก็สามารถสร้างความสุขต่างๆ ได้ง่าย ในทางกลับกันเราก็สร้างความทุกข์ขึ้นได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสื่อสังคม (Social media) ต่างๆ การใช้เทคโนโลยีนั้นการรับรู้ดิจิทัล (Digital literacy) มักจะพูดถึงการใช้เครื่องมือในการเข้าถึงสื่อ การกรองข่าวสาร การให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์รวมถึงระบบสารสนเทศต่างๆ รวมไปถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ
ความทุกข์ดิจิทัล
ข่าวสารการเสียดสี การตอบโต้ระหว่างผู้คน การวิพากย์วิจารณ์โดยใช้สื่อ การหลอกลวงผู้คนโดยเฉพาะเรื่องเงินตรา สิ่งนี้ประจักษ์ให้เห็นว่าการเจริญของเทคโนโลยีและการเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่มีผลต่อการพัฒนาจิตใจของผู้คน เทคโนโลยีกลายเป็นเครื่องมือในการสร้างความทุกข์ นอกเหนือไปจากทุกข์เดิมๆ ที่เราคุ้นเคย เช่น ทุกข์ไม่มีเงิน ทุกข์ไม่มีคนรัก ทุกข์ไม่มีลูก ทุกข์ไม่มีงาน ทุกข์ในเรื่องงาน ทุกข์ในเรื่องเรียน ทุกข์ในครอบครัว ทุกข์ในการเมือง ทุกข์เหล่านี้เป็นทุกข์พื้นฐานที่เราทุกคนต่างสัมผัสได้ในชีวิตประจำวัน แต่เราก็ยังไม่สามารถขจัดมันออกไปได้
เมื่อมีความทุกข์เรามักจะมองหาสิ่งที่ทำให้เราพึงพอใจ
เพื่อมาทดแทนความทุกข์ที่เกิดขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นเราอาจเลือกทำในบางสิ่งบางอย่างที่ขาดการตระหนักรู้ ซึ่งนำมาซึ่งความทุกข์ในเรื่องเดิมๆ
เราต้องยอมรับความจริงที่ว่ามนุษย์สามารถทำร้ายตัวเองด้วยความทุกข์ที่เกิดขึ้นในใจได้ตลอดเวลา
ความทุกข์ไม่ได้เกิดในมนุษย์เท่านั้น สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ล้วนมีความทุกข์ มีการศึกษาการรับรู้ความทุกข์ของสัตว์และมีข้อสรุปว่าสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น จะมีระดับการรับรู้ความทุกข์อยู่ในระดับสูงกว่าสัตว์ประเภทอื่น ความทุกข์ของสัตว์เป็นความทุกข์ที่มองเห็นได้ง่าย เพราะเกี่ยวข้องกับความเจ็บปวดหรือร่างกาย เช่น ทุกข์ที่เกิดจากการรุกรานจากมนุษย์ หรือจากสัตว์อื่น ทุกข์จากสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจึงทำให้การดำรงชีวิตของสัตว์อยู่ยากขึ้น และทุกข์ที่เกิดจากความหิวโหย การตอบโต้ต่อความทุกข์ของสัตว์ ก็คือการต่อสู้กลับ หรือหนีเมื่อเริ่มรู้สึกว่ามันเริ่มมีภัย หรือการย้ายถิ่นฐานเพื่อค้นหาสิ่งแวดล้อมใหม่ที่พวกมันสามารถดำรงชีวิตได้ สัตว์เองก็มีสติเช่นกัน ซึ่งงานวิจัยได้กล่าวถึงสติของสัตว์ (Animal conciousness) เช่น สติจากการตื่นจากหลับ สติจากสภาวะโคม่า และการตอบสนองต่อคุณลักษณะบางอย่างของสิ่งแวดล้อม แต่การรับรู้สถานะของความทุกข์ของสัตว์ เช่น การทราบถึงสภาวะจิตใจที่เริ่มเป็นทุกข์ และอาจมีระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือระดับความเจ็บปวดจากความทุกข์คงไม่สามารถถ่ายทอดได้ เพราะสัตว์ไม่สามารถสื่อสารให้มนุษย์เข้าใจได้นั่นเอง
เรามาทำความเข้าใจความทุกข์ด้วยการวิเคราะห์กระบวนการสร้างความทุกข์ โดยเปรียบเทียบการทำงานเสมือนสถาปัตยกรรม Von Nuemann ซึ่งคอมพิวเตอร์มีองค์ประกอบหลักสี่อย่างคือ ข้อมูลนำเข้าหรืออินพุต หน่วยประมวลผลกลาง หน่วยความจำ และข้อมูลนำออกหรือเอาท์พุต เราจะเปรียบเปรยการทำงานโดยให้
อารมณ์ (emotion) เป็นอินพุต
สมองเป็นหน่วยประมวลผลกลาง
ความจำ (memory) แทนหน่วยความจำ และ
เอาท์พุตคือจิตใจ (mind) ที่เศร้าหมอง
กระบวนการสร้างความทุกข์จะเริ่มจากการนำข้อมูลเข้าคือ อารมณ์ เช่น คุณอาจกำลังอารมณ์หดหู่ใจ อารมณ์จะถูกส่งไปประมวลผลที่สมอง ซึ่งสมองจะเริ่มทำงานเพื่อเรียกคืนความจำในอดีต แล้วทำการประมวลผลเพื่อสร้างความคิดที่นำพาจิตใจให้เกิดความเศร้าหมอง กระบวนการสร้างความทุกข์ของคุณก็ไม่ต่างอะไรกับการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ที่ทำงานซ้ำ เมื่อคุณเกิดความเศร้าหมอง ความเศร้าหมองนั้นก็จะสร้างอารมณ์ที่รุนแรงขึ้น และเมื่อประมวลผลซ้ำในรอบถัดไปเอาท์พุตที่ได้ก็จะกลับมาเป็นอินพุตอีกครั้ง ซึ่งยิ่งจะทำให้อารมณ์รุนแรงมากขึ้น สรุปสั้นๆ ของกระบวนการสร้างความทุกข์
อารมณ์ -> สมอง (ดึงความจำในอดีต แล้วสร้างความคิด) -> จิตใจที่เศร้าหมอง
การตัดวงจรที่สำคัญเพื่อให้ไม่เกิดการประมวลผลเพื่อสร้างความทุกข์ ก็คือ
การหยุดเรียกคืนความจำในอดีต
ซึ่งความคิดก็จะไม่เกิดขึ้นในสมอง และการสร้างอารมณ์ที่ดี ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดการสร้างความทุกข์ได้ นอกจากนั้นแล้วการใส่ความจำใหม่ๆ เข้าไปในสมองก็จะช่วยลดการจดจำความจำเก่าๆ ได้ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทุกข์ใจที่คนรักของคุณเลิกกับคุณ คุณก็มักจะจำภาพในอดีต แล้วเอาความคิดนั้นมาตอกย้ำความผิดหวัง อารมณ์เศร้าของคุณก็ไม่หายไป การลดความทุกข์ที่คุณควรทำคือการออกห่างจากสิ่งต่างๆ ที่อาจจะเตือนความทรงจำ
สิ่งที่ยากของมนุษย์ คือ การยึดติดกับความทรงจำในอดีต และชอบเอามาทำร้ายตัวเอง มิหนำซ้ำการคิดฝันไปถึงอนาคตที่ทำให้จิตใจตนเองไม่มั่นคงได้ถูกปรุงแต่งขึ้นล่วงหน้า ดังนั้น
การตระหนักรู้ถึงปัจจุบันขณะ เป็นสิ่งที่คุณต้องรีบจัดการ
การตระหนักรู้ถึงปัจจุบันขณะ จะเกิดขึ้นได้เมื่อคุณรู้จักปล่อยวาง
การปล่อยวางคือการที่คุณยอมรับว่ามันเกิดขึ้นแล้วและไม่ต่อต้านความทุกข์
หากความทุกข์ทำให้คุณเศร้าโศรก เสียใจ คุณสามารถปลดปล่อยด้วยการทำมันอย่างต่อเนื่อง เช่น ให้เวลากับความโศรกเศร้าเสียใจอย่างเต็มที่ แล้วพยายามสังเกตจิตใจของคุณว่ามีอะไรที่เริ่มเปลี่ยนแปลง การพยายามลืมไม่ใช่สิ่งที่คุณจะทำได้ในทันที เพราะสมองนั้นมีการจดจำทุกสิ่งทุกอย่างในอดีต และความทรงจำนั้นมักจะอยู่ยาวนาน
คุณคงไม่สามารถลืมได้ตามที่ใจอยากลืม เพราะสมองเลือกที่จะจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับคุณ
การสังเกตจิตใจในขณะที่สัมผัสกับการปลดปล่อยทางอารมณ์จากความทุกข์ด้วยการยอมรับว่ามันเป็นทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยไม่โทษต่อโชคชะตา ไม่โทษคนที่เกี่ยวข้อง ไม่โทษการกระทำของตนเอง แต่ให้อภัยกับทุกสิ่งทุกอย่าง โดยเฉพาะการให้อภัยการกระทำของตนเอง เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยในการตระหนักรู้สภาวะจิตใจของตนเองได้ดีที่สุด เมื่อคุณเริ่มรู้สภาวะจิตใจของตนเอง คุณก็จะเริ่มสังเกตได้ว่า "การเก็บเอาความทุกข์มาทำร้ายจิตใจนั้นมันเสียเวลา"
อย่าเสียเวลาในการสร้างความทุกข์ แต่จงใช้เวลาที่เหลืออยู่เพื่อสร้างความสุข
เราอาจต้องยอมรับความจริงในชีวิตว่า ไม่มีอะไรที่เป็นไปตามความปรารถนาของเราทุกๆ อย่างและที่สำคัญตลอดเวลาของชีวิต
ความสุขนั้นอยู่สั้นแต่ความทุกข์นั้นอยู่ยาว
ดังนั้นจงพิจารณาว่าความทุกข์สอนอะไรเราบ้าง ซึ่งคุณอาจจะพบว่าคุณสามารถเติบโตจากมันได้อย่างรวดเร็ว และทุกข์ต่างๆ นั้นจะหายไป เมื่อคุณตระหนักรู้ถึงปัจจุบัน โดยใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะ ไม่คิดถึงอดีต และไม่ฝันถึงอนาคต ความทุกข์ในโลกวัตถุนิยมนั้นจึงเป็นเพียงแค่ภาพมายา และ
การสิ้นสุดของความทุกข์จะจบสิ้นลงเมื่อคุณพบจิตวิญญาณของคุณ
InspireSoul
Copyright @2022 inspiresoulthailand.com. สงวนลิขสิทธิ์ไม่อนุญาตให้นำไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
Comments