top of page

    หลอก ลวง โลภ

    Updated: Sep 7, 2022



    ในโลกวัตถุนิยมที่เราต่างมุ่งหวังวัตถุ ทำให้การดำรงชีวิตของเราต้องปากกัดตีนถีบ เพื่อหาเงินมาซื้อสิ่งของต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ เสื้อผ้า เงินทอง ทรัพย์สมบัติ รวมไปถึงเครื่องประดับอาภรณ์ ซึ่งล้วนเป็นสิ่งของนอกตัว เราเหล่ามนุษย์เชื่อว่าการได้ครอบครองสิ่งของเหล่านั้น จะนำพาซึ่งความสุขและความสะดวกสบาย ซึ่งการครอบครองนั้นไม่เพียงแค่มีสิ่งของอย่างละหนึ่งชิ้น แต่มนุษย์ได้กลายเป็นนักสะสมในทุกๆ อย่างที่มีในโลกวัตถุนิยม วัตถุต่างๆ ที่เราครอบครอง กลายเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์แสดงความเป็นมนุษย์ที่ผ่านการคำนวณคุณค่าจากมูลค่าของสิ่งของที่ตีออกมาเป็นตัวเลข โดยบิดเบือนอำพรางความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง ที่เราต้องการให้มนุษย์เป็นมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณ และช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน


    บทละครพื้นบ้านเรื่อง "สังข์ทอง" ตอน "รจนาเลือกคู่" อาจเป็นเรื่องราวหนึ่งที่ช่วยเตือนสติให้เรามองเห็นถึงเนื้อแท้ของคน ซึ่งนางรจนาได้เสี่ยงพวงมาลัยให้กับสังข์ทองที่อยู่ในร่างของเงาะป่า เพราะนางมองเห็นรูปแท้ของสังข์ทองซึ่งเป็นผู้ที่มีวิชาความรู้ ในภายหลังสังข์ทองได้ช่วยออกรบจนได้รับชัยชนะ ซึ่งทำให้ท้าวสามนต์ซึ่งเป็นบิดาของนางรจนาพึงพอใจ แล้วพระอินทร์จึงได้เมตตาถอดร่างของสังข์ทองจากเงาะป่าเป็นชายหนุ่มรูปงามในเวลาต่อมา ละครพื้นบ้านนี้ทำให้นึกถึงความจริง (Reality) กับภาพมายาในโลกมนุษย์ เราถูกสะสมความคิดจากการรับรู้ผ่านทางตาสัมผัสว่าสิ่งนั้น คือ ความจริง โดยเพิกเฉยการมองลึกไปที่จิตวิญญาณของเพื่อนมนุษย์ เราจึงใช้ชีวิตแบบ

    ต่างคนต่างหลอกกัน

    ความหรูหรา ความสบาย เป็นเสมือนภาพมายาเพื่อสร้างสรรค์ชีวิตให้ดูเหมือนมีความสุข สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งลวงล่อเพื่อให้มนุษย์ไขว้เขวจากความเป็นจริง โดยต่างพากันตีความหมาย

    คุณค่าของมนุษย์จากการตีมูลค่าของสิ่งของที่มนุษย์ครอบครอง

    การครอบครองสิ่งของต่างๆ ของมนุษย์นั้น กลายเป็นการสะสมมากเกินกว่าที่จำเป็นต้องมี คุณอาจจะลองนึกถึงการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของคุณ คุณอาจมีสิ่งของที่ครอบครองจนคุณอาจลืมไปว่าสิ่งต่างๆ ที่คุณมีนั้นมันมากเกินความจำเป็น คุณอาจมีเสื้อผ้าถึง 365 ชิ้น ที่คุณสามารถใส่ในแต่ละวันได้ถึง 1 ปี แต่ในความเป็นจริงคุณอาจจะชอบใส่เพียงไม่กี่ตัว คุณอาจจะสะสมรองเท้าหลายร้อยคู่ คุณอาจจะสะสมเงินทองมากพอที่จะอยู่ในโลกนี้ได้เป็นร้อยๆ ปี สิ่งเหล่านี้อาจทำให้คุณมีความสุขจากการครอบครอง แต่ก็บิดเบือนการมองเห็นคุณค่าของสิ่งของที่คุณมี ในบางชิ้นที่คุณไม่ต้องการ มันอาจเป็นบางชิ้นที่คนอื่นหามาทั้งชีวิต หรือในบางชิ้นที่คุณมีคุณอาจรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจและต้องการหาสิ่งที่มาทดแทน ด้วยความรู้สึกว่าตนมีไม่เท่ากับคนอื่น หากคุณต้องใช้ชีวิตในการหาเงินอยู่ตลอดเวลาเพื่อซื้อหาสิ่งของ มันก็จะเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองโดยไม่จำเป็น เพราะท้ายที่สุดแล้วคุณก็อยู่อาศัยในบ้านได้เพียง 1 หลัง ขับรถได้เพียง 1 คัน ใส่รองเท้าได้เพียง 1 คู่ หรือใส่เสื้อหรือกางเกงได้อย่างละ 1 ตัว

    สิ่งที่มนุษย์มีความแตกต่างจากสัตว์นั่นคือ ความโลภ

    ในการศึกษาทางด้านประสาทวิทยา [1] เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมของมนุษย์และสัตว์ในแง่ของความโลภ ผู้วิจัยได้ทำการทดลองโดยศึกษาลิงสองตัว ซึ่งพวกมันได้ขังอยู่ในกรงข้างๆ กัน และสามารถมองเห็นกันและกันได้ ในการทดลองจะมีการป้อนโทเคน ให้กับลิงหนึ่งตัว แล้วมันจะต้องคืนโทเคนให้กับผู้วิจัย เพื่อที่จะได้รับรางวัลคืออาหาร ในขณะที่ลิงอีกตัวหนึ่งนั้น จะได้รับอาหารจากผู้วิจัยโดยไม่ต้องรับโทเคน ผู้วิจัยทำการศึกษาพฤติกรรมของลิงทั้งสองตัว พบว่าพวกมันต่างมีความวิตกกังวลเมื่ออีกฝ่ายได้รับอาหารจากผู้วิจัย และมองไปยังฝ่ายตรงข้ามราวกับว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะได้รับอาหารมากกว่าตนเอง โดยเฉพาะลิงที่ทำหน้าที่ส่งคืนโทเคนดูเหมือนจะมีความวิตกกังวลเป็นพิเศษ ราวกับว่ามันทำความดีแล้วแต่ทำไมมันจะต้องรออาหารที่ผู้วิจัยจะป้อนในภายหลัง แต่ลิงทั้งสองตัวนี้มีพฤติกรรมในรูปแบบเดียวกัน นั่นคือ เมื่อพวกมันอิ่มมันจะไม่รับอาหารจากผู้วิจัยอีกเลย นอกจากนี้แล้วผู้วิจัยได้ทดลองเพื่อศึกษาพฤติกรรมของฝูงลิง โดยทำการโยนอาหารเข้าไปในฝูงลิง ผู้วิจัยได้สังเกตว่าในทุกๆ ครั้งที่ผู้วิจัยโยนอาหารเข้ากรง จ่าฝูงจะเข้าไปรับอาหารก่อนลิงตัวอื่นๆ ลิงตัวอื่นๆ มักจะหลีกทางให้จ่าฝูง และจะได้อาหารหลังจากที่จ่าฝูงไม่เอาอาหารหรืออิ่มแล้วเท่านั้น ผลการวิจัยนี้จึงเทียบเคียงได้กับการปกครองที่มีลำดับชั้น ซึ่งผู้ที่อยู่ในลำดับบนสุดมักจะได้ทรัพยากรมากกว่าผู้ที่อยู่ในลำดับอื่น


    บทสัมภาษณ์ของสถานีแห่งหนึ่งที่มีการเผยแพร่ในโลกอินเทอร์เน็ต ได้สัมภาษณ์เศรษฐีในซิมบับเวท่านหนึ่ง เศรษฐีได้กล่าวว่า เขานั้นคงไม่แตกต่างจากเศรษฐีที่มีชื่อเสียงในโลก ซึ่งพวกเขานั้นมีความโลภมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป ดังนั้นเขาสามารถที่จะคิดหรือวางแผนอะไรก็ได้เพื่อให้ได้สิ่งต่างๆ มาครอบครอง ภายในบ้านของเศรษฐีมีการจัดห้องรับแขกเพื่อรองรับบุคคลที่เขาเรียกขานอย่างเป็นพิเศษว่า

    "คนที่เงินซื้อได้"

    ซึ่งก็คือแขกที่มีหน้าที่การงานในทางสังคม ที่สามารถนำพาเขาไปสู่สิ่งที่เขาต้องการครอบครอง เศรษฐียังได้กล่าวว่า

    มนุษย์ไม่สามารถปฏิเสธความอยากได้

    ดังนั้นเมื่อเขาต้องการอะไร เขาจึงใช้เงินที่มีเพื่อเป็นสิ่งล่อใจ "คนที่เงินซื้อได้" เพื่อทำงานให้กับเขา


    ในทางกลับกันนักวิชาการทางด้านเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า ความโลภ คือ สิ่งที่ดีที่ช่วยยกระดับการพัฒนาและความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ ถ้ามนุษย์ต่างขยันทำงานเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ตนต้องการ พวกเขาก็จะเข้าร่วมในทุกๆ กิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ในอีกมิติหนึ่งความโลภเป็นเงื่อนไขที่ผลักดันให้เกิดการสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งในหลายๆ องค์กรต่างก็ต้องการให้บุคลากรของตนนั้นมีความโลภ เพื่อการพัฒนาและเติบโตในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น การให้เงินโบนัส การให้เงินค่าตำแหน่ง การให้เงินค่าคอมมิชชั่น ซึ่งล้วนเป็นกลไกในการผลักดันประสิทธิผลในการทำงาน (Job performance) อย่างไรก็ตามความสัมพันธ์ระหว่างความโลภกับประสิทธิผลในการทำงานของบุคลากรมักสวนทางกับวัตถุประสงค์หลักขององค์กร ที่ต้องการให้คนทำงานร่วมกัน เพื่อผลประโยชน์ขององค์กรโดยเงินนั้นไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในการทำงาน

    ความโลภเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีหากมนุษย์นั้นร่วมกันทำงานโดยมองเห็นการกระจายผลประโยชน์อย่างยุติธรรม

    แต่ในความเป็นจริงแล้วในองค์กรต่างๆ ต่างมีลำดับชั้น แต่ละคนอาจมีสถานภาพทางสังคมที่แตกต่างกัน ซึ่งในงานวิจัย [2] ได้กล่าวไว้ว่าพนักงานที่อยู่ในตำแหน่งที่มีสถานะสูงก็มักจะทุ่มเทการทำงานในองค์กร ซึ่งในบางครั้งพนักงานเหล่านั้นก็อาจจะบิดเบือนการกระจายความยุติธรรมในองค์กร ทำให้เกิดการสร้างปัญหาต่างๆ ในองค์กร เช่น การคอร์รัปชั่น ดังนั้นในโลกมนุษย์นั้นมักมีดาบสองคมเสมอ การแสดงศักยภาพการทำงานของบุคคลในสถานะที่สูง ก็อาจนำพาซึ่งความไม่ยุติธรรม และสร้างความแตกร้าวในสังคม เมื่อเกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวกซึ่งก่อให้เกิดการกระจายผลประโยชน์ที่ไม่ยุติธรรม

    การสร้างความสมดุลของความโลภในสังคมโลกจึงต้องการการพัฒนาและปรับปรุง ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการกระจายความยุติธรรมในสังคมอย่างทั่วถึง และเหล่ามนุษย์นั้นต่างรู้จักคำว่า "พอ" ซึ่งหาได้ยากจากมนุษย์ที่ยังมีความต้องการที่ไม่สิ้นสุด
    การรู้จัก "พอ" เป็นสิ่งเดียวที่จะหยุดยั้งความโลภที่เปรียบเหมือนดาบสองคมที่จะทิ่มแทงทั้งตนเองและสังคม

    ความท้าทายในการหาความสมดุลของความโลภ ด้วยการหาเส้นขีดของคำว่า "พอ" ในเราเหล่ามนุษย์ล้วนไม่เท่ากัน ดังนั้นคงไม่ต้องแปลกใจว่า สังคมในโลกวัตถุนิยมนั้นจึงยุ่งเหยิง ผู้คนส่งเสียงแซ่สร้องเรียกร้องหาความยุติธรรม และผู้คนต่างต่อสู้ในสิ่งที่มองไม่เห็น และอาจไม่สามารถหาจุดแบ่งของคำว่า "พอ" ที่ทุกๆ คนล้วนยอมรับได้ นั่นเพราะว่า

    มนุษย์ที่มีความโลภมักมีความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อได้ในสิ่งที่ตนต้องการแล้วก็ยังไม่รู้จักคำว่า "พอ"

    มนุษย์ที่มีความโลภจึงมักจะมีความเชื่อว่า สิ่งที่ตนครอบครองนั้นมันช่างน้อยกว่าที่ตนสมควรจะได้รับ และเมื่อความคิดนี้เกิดขึ้นและเกาะกินในจิตใจ ก็ทำให้ขาดสติในการกระทำ และนำไปสู่การบิดเบือนในการสร้างความยุติธรรมในสังคม

    ความโลภอาจเป็นได้ทั้งสิ่งดีและไม่ดี แต่ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่มีความโลภนั้น จะนำพาซึ่งปัญหาต่างๆ ในสังคม ได้มากกว่ามนุษย์ที่มีความโลภที่จะรังสรรค์เพื่อให้สังคมเกิดการแบ่งปัน

    ดังนั้นการตระหนักรู้ การรู้จักความพอเพียง จึงเป็นสิ่งที่ปรารถนาในสังคมโลกมนุษย์ ถึงแม้ว่าเส้นแบ่งความพอเพียงของเราเหล่ามนุษย์นั้นอาจไม่เท่ากันก็ตาม


    Inspire Soul


    inspiresoulth@gmail.com


    Copyright @2022 by inspiresoulthailand.com สงวนลิขสิทธิ์ห้ามสำเนาหรือเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต




    อ้างอิง

    [2] https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyg.2019.02021/full

    Comments


    bottom of page