top of page

    อยู่กับปัจจุบัน

    Updated: Nov 17, 2022



    ณ เวลาหนึ่ง ตัวอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง แต่จิตใจล่องลอยออกไปที่อื่น คุณเคยรู้สึกอย่างนั้นบ้างหรือไม่ อาจมีหลาย ๆ ครั้ง ที่คุณอาจจะรู้สึกแบบนั้น สิ่งที่ควรสำรวจเกี่ยวกับตัวคุณเอง ก็คือ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น และทำอย่างไร คุณจะอยู่กับปัจจุบันได้ ความรู้สึกในการอยู่กับปัจจุบันนั้นเป็นอย่างไร และหากสามารถอยู่ในปัจจุบันได้จะเกิดผลดีอย่างไร


    ในโลกปัจจุบันที่มนุษย์ต่างค้นหาสิ่งที่ตนต้องการจะทำ หรือต้องสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง ทำให้เราใช้ชีวิตในแต่ละวันด้วยตารางงาน หรือตารางกิจกรรมที่ยุ่งเหยิง เราจึงอาจลืมพิจารณาตนเอง ไม่ได้ทำความเข้าใจกับตัวเองในระดับลึก ๆ เพราะเราชื่นชมกับการสร้างมากกว่าการไม่สร้าง ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว

    การไม่ทำอะไรเลยอาจจะทำได้ยากกว่าการทำอะไรสักอย่าง

    ในโลกยุคปัจจุบัน


    นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส-แอลจีเรีย แอลเบิร์ต คามุส (Albert Camus) กล่าวว่า

    มนุษย์ต่างค้นหาสิ่งที่มีความหมายให้กับชีวิต แต่อันที่จริงแล้ว จักรวาลไม่มีความหมายอะไรให้กับมนุษย์

    แนวคิดของเขา กล่าวว่า การใช้ชีวิตก็เสมือนการอยู่โดยไม่มีแก่นสาร เราเพียงแค่สังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เราอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าสิ่งใดมีความหมายสำหรับชีวิตของเรา เพราะสิ่งที่เราเห็นอย่างชัดเจนที่สุดในชีวิต คือการเกิดและการตายเท่านั้น ส่วนสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่ไร้สาระ ไม่แน่ไม่นอน จะเกิดตอนไหนก็ได้กับชีวิตของเรา ในบางเรื่องเราอาจจะควบคุมได้ และบางเรื่องเราก็อาจจะควบคุมไม่ได้ สิ่งที่สามารถรับมือกับเรื่องไร้สาระของจักรวาลที่เกิดขึ้น ก็คือ การฆ่าตัวตาย การยอมรับ หรือการศรัทธา การฆ่าตัวตายก็คือการหลีกหนีเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิต แต่การตายก็ไม่มีความหมายเท่ากับการมีชีวิตอยู่ ดังนั้นวิธีนี้จึงอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุด การศรัทธา คือการเชื่ออย่างไร้เหตุผล สิ่งนี้ก็ดูเหมือนเป็นการกระทำที่ไม่สนใจความหมาย เพราะไม่มีการคิดพิจารณาด้วยตรรกะใด ๆ ดังนั้นสิ่งที่ดูจะมีความหมายที่สุดในการรับมือกับความไร้สาระของจักรวาล ก็คือ การยอมรับและใช้ชีวิตอยู่ในปัจจุบันอย่างเต็มที่ ความหมายของชีวิตนั้นอาจจะไม่มี แต่มนุษย์สามารถที่จะเป็นผู้สร้างความหมายให้กับชีวิตของเราได้เอง ในโลกปัจจุบันที่มีทางเลือกมากมาย ก็อาจจะทำให้คนเลือกทำบางสิ่งบางอย่าง โดยอาจลืมไปว่าเรามีเวลาที่จำกัด ดังนั้นหากเราเลือกทำเฉพาะสิ่งที่เราหลงใหลอย่างแท้จริง สิ่งนั้นก็จะนำมาซึ่งความหมายของการมีชีวิตอยู่ได้ เช่น การเลือกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เราหลงใหล โดยเมื่อทำสิ่งนั้นแล้วเราอาจจะลืมวันและเวลาที่ผ่านไป แต่สิ่งนั้นทำให้เรารู้สึกถึงอิสรภาพ และการมีชีวิตที่มีความหมาย แล้วท้ายที่สุดสิ่งต่าง ๆ ที่เราทำก็จะสร้างรูปร่างที่ชัดเจนของชีวิตเรา และสร้างความหมายให้กับการมีชีวิตของเรา


    ปรัชญาเต๋า กล่าวว่า มนุษย์ควรทำตัวให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ โดยไม่พยายามต่อต้านสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชีวิต แต่ต้องรู้จักไหวเอนไปตามธรรมชาติ แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดวู่เว่ย ที่กล่าวถึง การกระทำโดยไม่กระทำ การกระทำที่ไม่กระทำนั้น ก็คือการกระทำอย่างหนึ่ง และแทนการตอบโต้ต่อสถานการณ์ใด ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งอาจเปรียบเปรยกับการไม่พยายามควบคุมต่อสิ่งต่าง ๆ ที่เข้ามาในชีวิต แต่ปล่อยให้ชีวิตไหลไปตามธรรมชาติ การพยายามควบคุม หรือการต่อต้านสิ่งที่ปรากฏอย่างเป็นธรรมชาติ โดยกระทำการใด ๆ เพื่อตอบสนองนั้น อาจทำให้ตนเองต้องเผชิญกับความไม่สมปรารถนา หรือเสียใจ ได้ง่าย ดังนั้น

    การไม่กระทำการใด ๆ หรือไม่แข็งขืนต่อเหตุการณ์จึงเป็นสิ่งที่พาไปอยู่ในจุดที่ตนเองยอมรับได้ง่ายกว่าและสามารถทำได้ทันที

    การแข็งขืนต่อเหตุการณ์ อาจเปรียบได้กับกิ่งไม้ของต้นไม้ใหญ่ที่จะต้องหัก และร่วงหล่นจากลำต้นเมื่อเผชิญกับพายุลมที่พัดแรง แต่หากทำตัวไหลไปตามเหตุการณ์ที่ปรากฏเสมือนคลื่นน้ำที่ไหลไปตามกระแสและกระทบกับโขดหินที่อยู่ชายฝั่ง การกระเซ็นของน้ำที่กระทบกับโขดหินนั้น แสดงถึงความกล้าหาญที่กล้าปะทะกับสิ่งที่กำลังสำแดงในสถานการณ์ที่อาจจะดูรุนแรง แต่น้ำก็ยังเป็นน้ำ ซึ่งยังคงอยู่ได้ในธรรมชาติ และกลมกลืนไปกับธรรมชาติ

    การเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติและการไม่พยายามควบคุม จึงเป็นแนวคิดในการดำรงชีวิตที่ฝึกให้จิตมีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ โดยถือว่าเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นสิ่งที่จักรวาลกำหนด และไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

    ชีวิตก็คือธรรมชาติ เราต่างเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ แต่เราไม่ใช่ผู้กระทำ ดังนั้นมนุษย์จึงควรดำรงชีวิตอยู่ให้กลมกลืนกับธรรมชาติให้ได้มากที่สุด


    หากคุณลองสังเกตใกล้เข้ามากับตัวคุณ โดยไม่เอาปรัชญาต่าง ๆ มาพิจารณา คุณอาจจะสังเกตเห็นได้ว่า คนที่มีความรู้หรือมีการศึกษาสูง ๆ มักเป็นคนที่มีความวิตกกังวลมากกว่าคนทั่วไป เข้าทำนอง "ยิ่งรู้มาก ก็ยิ่งคิดมาก" ซึ่งการคิดมากนั้น บางครั้งก็สร้างความเครียดในจิตใจได้ง่าย ทั้ง ๆ ที่เรื่องบางเรื่องยังไม่เคยเกิดขึ้น แต่จิตใจเผลอเก็บเอามาคิด เพื่อวางแผน และตระเตรียมในการรับมือล่วงหน้า การอยู่กับปัจจุบันขณะ จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ เพื่อหลีกเลี่ยงความวิตกกังวลต่าง ๆ การอยู่กับปัจจุบันเป็นการตระหนักรู้ในบริบทนั้น เช่น หากกำลังเดินเล่นในสวนสาธารณะ คุณจะเพลิดเพลินกับสิ่งแวดล้อมรอบข้างในระหว่างที่เดิน คุณจะสัมผัสได้ถึงสายลมเย็น ๆ ที่พัดผ่านเข้าสู่ตัวคุณ คุณอาจจะเพลิดเพลินกับพรรณไม้ดอกนานาพรรณในสวนสาธารณะ โดยไม่ได้คิดถึงสิ่งอื่นใดนอกเหนือจากส่ิงที่คุณกำลังรู้สึก และมองเห็นได้ที่อยู่ตรงหน้า แต่ถ้าคุณไม่อยู่กับปัจจุบัน คุณอาจจะใช้เวลาในการคิด ใคร่ครวญถึงสิ่งต่าง ๆ ในชีวิต คิดถึงคนอื่น คิดถึงเหตุการณ์ที่คุณยังจำมันฝังใจ คิดถึงความผิดหวัง คิดถึงอดีต และคิดถึงอนาคต การเดินเล่นในสวนสาธารณะของคุณก็อาจจะเป็นแค่การเปลี่ยนสถานที่ แต่คุณเองยังมีจิตใจที่หมกหมุ่น ครุ่นคิด กับสิ่งที่คุณจดจำมัน การเดินเล่นของคุณนั้นก็ไม่ได้ทำให้คุณซึมซับ และซาบซึ้งกับบรรยากาศ หรือสุนทรียภาพที่คุณควรจะได้รับ การฝึกจิตใจให้อยู่กับปัจจุบัน จึงเป็นทางเลือกของการสร้างความสงบให้เกิดขึ้นภายในจิตใจ โดยไม่คิดถึงสิ่งอื่นใด นอกเหนือไปจากสิ่งที่คุณรับรู้ได้ในขณะนั้น การฝึกจิตใจให้อยู่กับปัจจุบันเป็นการสร้าง สามาทา (Samatha) ให้เกิดขึ้นในตนเอง

    สามาทา คือ การหยุด หยุดทุกสิ่งทุกอย่างที่จดจำ หยุดไม่ต้องทำอะไรมาก และอยู่อย่างง่าย ๆ ในปัจจุบันขณะ [1]

    การอยู่กับปัจจุบันขณะ จึงเป็นสภาวะหนึ่งที่คุณอยู่กับตัวตนของคุณเอง โดยสังเกตอากัปกิริยาของตนเอง เสมือนหนึ่งคุณกำลังเฝ้ามองความคิดของตนเองในระหว่างที่อยู่กับสิ่งอื่น ๆ รอบข้าง หากอยู่ในปัจจุบันขณะได้ สภาวะเช่นนี้จะนำไปสู่สภาวะของจิตที่มีสติ (Mindful) และไม่ว่าคุณจะทำสิ่งใด คุณก็จะมองเห็นการกระทำของตนเองได้อย่างชัดเจน และจะเลือกที่จะตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างได้อย่างมีสติ ยกตัวอย่างเช่น หากคุณนั่งประชุมอยู่กับเพื่อนร่วมงาน คุณอาจจะได้รับฟังสิ่งต่าง ๆ จากคนอื่นที่กำลังพูดในที่ประชุม บางอย่างก็อาจจะส่งผลให้คุณรู้สึกไม่เห็นด้วย และถ้าคุณควบคุมตนเองไม่ได้ คุณก็อาจจะเลือกที่จะตอบโต้ หากคุณอยู่ในปัจจุบันขณะ คุณอาจจะกำลังเฝ้ามองความคิดของตัวคุณเอง ต่อสิ่งที่คุณรับรู้ และเมื่อสังเคราะห์สิ่งต่าง ๆ นั้น คุณอาจจะนำเสนอความคิดเห็นที่ปราศจากการตัดสินต่อความคิดของผู้อื่น แล้วเสนอแนะบางอย่างเพื่อเป็นคำแนะนำ โดยไม่สนใจว่าเขาเหล่านั้นจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ตาม การอยู่กับปัจจุบันขณะ จะทำให้คุณตระหนักรู้ความคิดของตัวคุณเอง เข้าใจ มองเห็นความชัดเจน และมองเห็นผลกระทบของความคิดของตนเองต่อสิ่งรอบข้าง คุณจะมองเห็นตัวตนของคุณอย่างแท้จริง โดยไม่เอาสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวคุณมาบงการอารมณ์ ความรู้สึก และการตอบสนองของตัวคุณ ยิ่งไปกว่านั้นคุณจะสามารถมองเห็นตัวตนของผู้อื่นจากสิ่งที่ปรากฏซึ่งคุณสามารถรับรู้ได้ในขณะนั้น

    ท่านทิช นาต ฮัน (Thich Nhat Hanh) พระนักปฏิบัติชาวเวียดนามได้กล่าวไว้ว่า การเจริญสติด้วยการเดินเท้า โดยไม่คิดถึงจุดหมายปลายทาง คิดแค่เพียงว่าเรากำลังเดินด้วยการก้าวย่างไปพร้อม ๆ กับการหายใจเข้า และหายใจออก เป็นวิธีการอย่างหนึ่งในการฝึกฝนเพื่ออยู่กับปัจจุบันขณะเช่นเดียวกับการฝึกการนั่งสมาธิ และเมื่อฝึกฝนร่วมกับการทำวิปัสสนา ซึ่งเป็นการทำความเข้าใจตัวเองในระดับที่ลึก ก็จะทำให้เข้าใจตัวเองได้มากขึ้น และการฝึกทั้งสองอย่างก็คือการฝึกฝนที่นำไปสู่การใช้ชีวิตในปัจจุบันขณะ ซึ่งสามารถทำได้ในทุก ๆ ที่ และในทุก ๆ เวลา ซึ่งอาจเป็นช่วงสั้น ๆ หรือยาวก็ได้


    นายทหารหนุ่มเวียดนาม มีภาระกิจที่ต้องไปทำสงคราม จำเป็นที่จะต้องทิ้งให้ภรรยาสาวท้องแก่อยู่บ้านโดยลำพัง เวลาผ่านไปราว ๆ สองปี นายทหารหนุ่มผู้นั้นได้เดินทางกลับบ้าน ซึ่งสร้างความยินดีให้กับภรรยาสาวอย่างมาก นายทหารกลับถึงบ้านด้วยความดีใจที่ได้เห็นหน้าลูกและภรรยา เขาพยายามที่จะให้ลูกชายเรียกเขาว่าพ่อ แต่เด็กชายวัยสองขวบนั้น ไม่ยอมเรียก วันหนึ่งภรรยาของเขาออกไปหาซื้อของเพื่อนำมาใช้ในงานเทศกาลเพื่อแสดงความนับถือต่อบรรพบุรุษ นายทหารหนุ่มจึงคุยกับลูกชาย เพื่อค้นหาว่าทำไมเด็กจึงไม่ยอมเรียกเขาว่าพ่อ เด็กชายผู้นั้นกล่าวอย่างแข็งขันว่า เขาไม่ใช่พ่อ เด็กชาย กล่าวต่อไปว่า ทุก ๆ คืนแม่จะนั่งก้มหน้าคุยกับพ่อ เวลาแม่นั่งพ่อก็จะนั่ง เวลาแม่นอนพ่อก็จะนอน นายทหารหนุ่มเกิดความรู้สึกเป็นทุกข์ ด้วยความรู้สึกถูกทรยศจากคนที่เขารักขึ้นมาทันที เมื่อภรรยาของเขากลับมาถึงบ้าน ท่าทีของเขาได้เปลี่ยนไป เขาแสดงความเย็นชา ไม่พูด ไม่ทักทายภรรยาตั้งแต่คืนนั้น และทุก ๆ คืนหลังจากนั้น เขาใช้เวลาอยู่ในบาร์ดื่มเหล้าเพื่อให้ลืมความกลัดกลุ้มใจ ภรรยาของเขารับรู้ได้ถึงความเย็นชา เธอเองมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้เป็นสามี และเธอรู้สึกถึงความทุกข์ เธอรู้สึกถึงการถูกทอดทิ้ง ในที่สุดเธอจึงทนไม่ได้กับความรู้สึกเหล่านั้น เธอตัดสินใจกระโดดน้ำตาย อยู่มาวันหนึ่งนายทหารหนุ่มจุดเทียน และเดินเข้าไปใกล้ฝากำแพงในบ้าน เด็กน้อยลูกชายของเขากล่าวด้วยน้ำเสียงดีใจ และเรียกเขาว่า "พ่อ ๆ พ่อกลับมาแล้ว" นายทหารหนุ่มรู้สึกตกใจ และตระหนักได้ถึงความเข้าใจผิดของเขาที่มีต่อภรรยา เขาใคร่ครวญและนึกถึงความรู้สึกของผู้เป็นภรรยาว่า แท้ที่จริงแล้ว ภรรยาของเขาอาจจะนั่งก้มหน้าและร้องไห้ เพราะตลอดเวลาที่เขาไปรบนั้น ภรรยาของเขาต้องเลี้ยงลูกเพียงลำพัง ซึ่งเงาของเธอนั้นอาจสะท้อนออกมาเหมือนเป็นอีกคนหนึ่งที่นั่งอยู่ด้วย นายทหารหนุ่มรู้สึกเสียใจมากกับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เขาร้องไห้ และตำหนิตัวเองว่า เขาน่าที่จะพูดกับภรรยาของเขาด้วยความรักเพื่อถามเธอตรง ๆ แต่สิ่งที่เขาเลือกกระทำนั้น ล้วนมาจากความหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของตนเอง ซึ่ง ณ วันนี้ มันทำให้เขารู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้ง


    เรื่องราวข้างต้นถ่ายทอดจากท่านทิช นาต ฮัน เพื่อนำมาสอนแก่ศิษยานุศิษย์ให้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มากขึ้น เรื่องบางเรื่องเป็นเรื่องที่เราไม่รู้ และอาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดได้

    การอยู่กับปัจจุบัน ก็คือการหยุดคิดถึงสิ่งอื่นใดที่ไกลออกไป เพื่อใส่ใจ สังเกต และเฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเราในปัจจุบันขณะ และสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเรา

    หากนายทหารหนุ่มผู้นั้นนึกถึงความรักแท้ที่เขามีต่อภรรยา เขาก็ควรจะพูดว่า "ที่รักจ้ะ ลูกของเราบอกว่า คุณคุยกับบางคนในทุก ๆ คืน มันเกิดอะไรขึ้นหรือที่รัก กรุณาบอกผมที ผมรู้สึกเป็นทุกข์มากที่ได้ยิน" และภรรยาของเขา ผู้ซึ่งเป็นรักแท้ เธอจะช่วยปลดปล่อยความทุกข์ของนายทหารหนุ่มผู้นั้น แล้วเรื่องราวต่าง ๆ จะไม่เกิดขึ้นในอย่างที่มันเป็น


    Inspire Soul



    Copyright @2022 by www.inspiresoulthailand.com ห้ามเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต



    หมายเหตุ

    [1] สามาทา แปลจากการทับศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย อาจสอดคล้องกับคำว่า "สมถะ" ในภาษาไทย อย่างไรก็ตามบทความนี้ตีความจากคำสั่งสอนของท่านทิช นาต ฮัน


    Comments


    bottom of page