top of page

    เวลากับทุกข์อุปาทาน



    หากคุณสำรวจตัวเองระหว่างความสุขที่เคยสัมผัสกับความทุกข์ที่เคยสัมผัส คุณอาจให้คำตอบกับตัวเองได้ว่าความสุขนั้นอยู่สั้นแต่ความทุกข์นั้นอยู่ยาว ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วในการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น คุณควรจะรักษาไว้ซึ่งความสุขในระยะเวลาที่นานกว่าความทุกข์ เหตุที่ทำให้คุณรู้สึกได้แบบนั้นก็เพราะว่า การยึดติดความรู้สึกไว้กับ "ทุกข์อุปาทาน" มากกว่าความสุข


    หลายๆ ครั้งที่คุณมีความทุกข์ คุณมักจะตัดพ้อด้วยการอ้างอิงถึงเวลา โดยเฉพาะปัญหาในเรื่องความรักความสัมพันธ์ ที่คู่รักมักกล่าวอ้างถึงจำนวนเวลาที่คบหากัน ซึ่งเวลาเหล่านั้นอาจนำไปสู่ความมั่นคงในชีวิตรักสำหรับคู่รักบางคู่ หรือนำไปสู่ความสิ้นสุดของชีวิตรักของบางคู่ก็ได้ หากคุณสังเกตดีๆ แล้ว

    เวลาไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นอะไรกับคุณได้ เพราะเวลาเป็นเพียงสิ่งสมมติที่เกิดขึ้นในโลกมนุษย์

    สิ่งสมมติที่เรียกว่าเวลา (time) ถูกวัดออกมาเป็นข้อมูลเชิงปริมาณ เช่น วินาที นาที ชั่วโมง สัปดาห์ เดือน และปี เป็นต้น ในโลกมนุษย์นั้นแท้ที่จริงแล้วเวลา ณ ปัจจุบัน (now) อาจมีหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ถูกบิดเบือนด้วยเวลาสมมติที่แตกต่างกัน ตามตำแหน่งที่เกิดเหตุการณ์บนโลกมนุษย์


    เวลาที่แท้จริงที่เราสัมผัสได้ คือ เวลา ณ ปัจจุบันเพียงอย่างเดียว ส่วนเวลาสมมติที่เกี่ยวข้องกับเวลา ณ ปัจจุบัน คือ อดีต และ อนาคต ซึ่งอดีต คือ เวลาที่คุณเรียกคืนจากความจำที่เคยรับรู้ และ อนาคต คือ เวลาที่คุณได้สร้างขึ้นในความจำซึ่งยังไม่เกิดขึ้น เวลาที่ร้ายที่สุดที่เหล่ามนุษย์มักเอามาทำร้ายจิตใจ ก็คือ อดีต และ อนาคต การคิดถึงอดีตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ หรือ ความสุข และการคาดหวังกับอนาคตมักสร้างภาพมายาให้หลุดออกจากการตระหนักรู้ในสภาวะปัจจุบัน

    มนุษย์มักผูกความทุกข์ไว้กับสิ่งสมมติและสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นภายในจิตใจ โดยละเลยสิ่งที่ตนควรสัมผัสได้ในเวลา ณ ปัจจุบัน

    การดำรงชีวิตด้วยการตระหนักรู้ถึงสภาวะปัจจุบันในเวลา ณ ปัจจุบัน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะสร้างอดีตและอนาคตที่ปราศจากความทุกข์ได้


    การศึกษาวิจัย [1] เรื่องประสบการณ์ใกล้ความตาย (Near-death experience) ซึ่งผู้มีประสบการณ์นั้น รับรู้ได้ถึง ความมืด ความสงบ มีแสงสว่าง การผ่านเข้าสู่แสง และการสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณที่แยกออกจากร่าง มีผู้มีประสบการณ์เป็นส่วนน้อยที่สัมผัสได้ถึงความโกรธ และตื่นกลัว สภาวะเหล่านี้เรียกว่าสภาวะการเข้าสู่ขอบเขตของจิตวิญญาณ


    ขอบเขตของจิตวิญญาณ (Spiritual realm) ในมิติจักรวาลเป็นขอบเขตที่ไม่มีกายภาพ ดังนั้นจึงไม่มีเวลา ไม่มีระยะห่าง และไม่มีการเคลื่อนไหว อีกทั้งดวงจิตวิญญาณไม่มีอายุ เป็นเพียงพลังงานที่คงอยู่และไม่เคยสูญสลาย เหล่าดวงจิตวิญญาณจึงสามารถปรากฎในที่แห่งใดก็ได้ในมิติจักรวาล

    เวลาในขอบเขตของจิตวิญญาณจึงเปรียบได้กับสภาวะที่เกิดขึ้นซ้ำในมิติโลกมนุษย์

    หากเราสังเกตสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก โดยไม่เอาเวลามาเกี่ยวข้อง คุณจะสังเกตปรากฏการณ์ที่เกิดซ้ำ อาทิ ดวงอาทิตย์ขึ้นแสดงถึงสภาวะรุ่งเช้า ดวงอาทิตย์ตกดินแสดงถึงสภาวะย่ำค่ำ ขณะที่ดวงจันทร์แสดงถึงสภาวะในยามค่ำคืน หากคุณจินตนาการต่อไปว่าคุณนั่งอยู่เฉยๆ เพื่อสังเกตสภาวะเหล่านั้นติดต่อกันไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้สนใจนาฬิกาบอกเวลา สภาวะเหล่านั้นก็จะเกิดขึ้นเป็นปกติ จนกระทั่งตัวคุณเองอาจจะจำไม่ได้เลยว่า วันนี้คือวันอะไร พรุ่งนี้คือวันอะไร และนานแค่ไหนแล้วที่คุณนั่ง ดังนั้นสภาวะที่คุณอยู่จึงสร้างสภาวะให้รับรู้ได้ถึง อดีต ปัจจุบัน และอนาคตที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ดร.คาร์ล จุง นักจิตวิทยาชื่อดังยังได้พูดถึงประสบการณ์ใกล้ตายของเขาว่า เขาได้อยู่ในสภาวะที่ อดีต ปัจจุบัน และอนาคตเป็นสภาวะเดียวกัน ซึ่งการให้ข้อสังเกตนี้อาจสนับสนุนความจริงที่ว่าขอบเขตจิตวิญญาณไม่มีเวลา

    เวลาในโลกมนุษย์เป็นสิ่งสมมติ แต่ในขอบเขตจิตวิญญาณนั้นไม่มีเวลา ปรากฎการณ์ทุกอย่างเป็นการปรากฎซ้ำวนเวียนที่เป็นปกติ

    ความทุกข์ที่เราสัมผัสได้ในโลกมนุษย์ จึงเป็นความทุกข์ที่สมองจดจำหรือรับรู้จากภาพเหตุการณ์ในอดีต ที่สามารถสร้างความทุกข์ในปัจจุบัน และนำมาซึ่งความหวาดกลัวต่ออนาคต ถึงแม้ว่าวันเวลาผ่านไปนานแค่ไหน ภาพเหล่านั้นก็ยังคงอยู่ เพราะมนุษย์นั้นนำความจำผูกติดกับเวลาสมมติ จนในที่สุดความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ กลายเป็น

    ความทุกข์อุปาทานที่ถูกทบทวีคูณด้วยเวลาสมมติ

    ความทุกข์อุปาทาน คือ ความทุกข์ที่ยึดมั่นถือมั่นในจิตใจ แม้ว่าเวลาล่วงผ่านไปแล้วก็ยังติดอยู่ในจิตใจ ความทุกข์นี้กลายเป็น "ปมในใจ" ให้กับมนุษย์ ในทางจิตวิทยานั้น ปมในใจ ของมนุษย์อาจกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการกระทำใดๆ ก็ได้ ซึ่งอาจเป็นการกระทำที่มีสติ (concious) หรือไม่มีสติ (unconcious) ก็ได้ ดังนั้น


    การปล่อยวางความทุกข์เมื่อตระหนักรู้ได้ถึงความทุกข์ ณ ปัจจุบันขณะ โดยยอมรับว่ามันผ่านไปแล้ว จะบรรเทาทุกข์และนำมาซึ่งการยุติความทุกข์อุปาทาน

    เมื่อไม่มีเวลาจึงไม่มีระยะห่าง (space) ดังนั้นมิติจักรวาลซึ่งบรรจุขอบเขตจิตวิญญาณและมิติโลกมนุษย์จึงเป็นมิติที่กำลังเกิดขึ้นในขณะเดียวกัน ซึ่งการกระทำใดๆ ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นบนโลกจะเชื่อมโยงไปยังพระเจ้าในมิติจักรวาลตลอดเวลา ซึ่งพระเจ้าสามารถรับรู้ได้ถึงจิตวิญญาณของมนุษย์และเฝ้ามองการเติบโตของจิตวิญญาณของมนุษย์ผู้นั้นตลอดไป


    InspireSoul



    Copyright @2022 inspiresoulthailand.com สงวนลิขสิทธิ์ห้ามสำเนาหรือเปยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต


    อ้างอิง

    [1] San Filippo, David Ph.D., "An Overview of the Near-Death Experience Phenomenon" (2006). Faculty Publications. 27. https://digitalcommons.nl.edu/faculty_publications/27


    Comments


    bottom of page